โครงการป้องกันและชะลอโรคไตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Chronic Kidney Disease Prevention in the Northeast of Thailand: CKDNET)

admin
Read Time:8 Minute, 46 Second

โครงการป้องกันและชะลอโรคไตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Chronic Kidney Disease Prevention in the Northeast of Thailand: CKDNET)  ได้เล็งเห็นความสำคัญของการป้องกันและลดโรคไต และมุ่งมั่นที่จะขยายบทบาทเชิงวิชาการของมหาวิทยาลัยในการทำงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชนบทที่ประชากรอาจขาดความรู้และโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างเพียงพอ โครงการจึงได้ดำเนินงานด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งประกอบด้วย 8 คณะ (คณะแพทยศาสตร์, คณะพยาบาลศาสตร์, คณะสาธารณสุขศาสตร์, คณะเภสัชศาสตร์, คณะเทคนิคการแพทย์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์ และคณะเกษตรศาสตร์) และสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สยปพ.) และหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล หน่วยงานมหาดไทย  (ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด อบจ. อบต. เทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และ อสม. อสค. ให้ครอบคลุมการดูแลและป้องกันโรคไต โดยโครงการได้รับงบประมาณอุดหนุนทั่วไปจากรัฐบาลผ่านทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ทุนอุดหนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและ นวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จนถึงปัจจุบัน

 

การดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการประกอบด้วย โครงการย่อย 9 โครงการ ได้แก่ โครงการป้องกันและลดโรคไตในชุมชนเมือง, โครงการป้องกันและลดโรคไตเรื้อรังในชุมชนชนบท, โครงการพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังอย่างเข้มงวดและครอบคลุมแบบองค์รวม, โครงการวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลของโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังแบบเข้มงวด, โครงการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อป้องกันโรคไต, โครงการนวัตกรรมในการคัดกรองและรักษาโรคไตเรื้อรัง, โครงการศึกษาผลกระทบของมลพิษสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ และโครงการประเมินและรักษาโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อให้ครอบคลุมประชากรทั้งประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยงต่อโรคไต และผู้ป่วยโรคไตทุกระยะ และครอบคลุมทั้งระบบบริการสุขภาพ ระบบการดูแลและรักษาโรค ระบบป้องกันและเสริมสร้างสุขภาพ และระบบสวัสดิการสังคม ด้วยกลยุทธ์หลายด้านเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และประหยัดค่าใช้จ่าย (รายละเอียดใน www.ckd.kku.ac.th และ QR codes ท้ายเอกสาร)

 

โครงการฯได้เป็นพี่เลี้ยงนักวิจัยของหน่วยปฐมภูมิและโรงพยาบาลในเขตจังหวัดขอนแก่น เพื่อพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศรวมถึงแนวทางรักษาใหม่ ๆ เช่น โครงการ คนขอนแก่นไตแข็งแรง ที่เป็นความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สสจ เทศบาล และ รพ.ขก. ได้ถูกนำเสนอต่อท่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และมีการขยายรูปแบบการดำเนินงานลักษณะนี้ไปในพื้นที่ต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และขยายไปที่เขตสุขภาพที่ 12 ในพื้นที่ภาคใต้ นอกจากนี้โครงการได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผ่านทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ในการพัฒนานวัตกรรมการใช้เซนเซอร์ตรวจวัดสารบ่งชี้คุณภาพเพื่อคัดกรองและติดตามอาการของผู้ป่วยโรคไตระยะแรก ซึ่งได้แก่ สาร NGAL (Neutrophil Gelatinase-associated Lipocalin) ด้วยเทคนิคอิเลกโตรเคมิสตรี, และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ในการพัฒนาชุดตรวจวัดโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ในระดับภาคสนาม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการทดสอบ ณ จุดดูแลผู้ป่วย (point-of-care) ในการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในชุมชน และการพัฒนาชุดตรวจวัดคุณภาพของแหล่งน้ำโดยเฉพาะการปนเปื้อนของโลหะหนักและสารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช ในเขื่อนอุบลรัตน์ และตามลำน้ำพองในช่วง 35 กิโลเมตร

 

ผลการดำเนินงานของโครงการ มีสร้างระบบลงทะเบียนผู้ป่วยที่สามารถดูแลผู้ป่วยรายบุคคล และวิเคราะห์ผลการดำเนินงานในหน่วยงานสถานพยาบาลต่าง ๆ, จัดอบรมแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าที่สารสนเทศ, มีการลงชื่อความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน (MOU) 4 เรื่อง, จดรับรองลิขสิทธิ์ผลงานนวัตกรรม จำนวน 24 เรื่อง, ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารระดับนานา ชาติ 29 เรื่อง และระดับประเทศ 8 เรื่อง, ผลิตสื่อและคู่มือให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปและผู้ป่วย ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ เหมาะสมกับพื้นฐานของประชาชนในแต่ละวัย เศรษฐานะและวุฒิการศึกษา และมีการนำไปใช้ในชุมชนมากกว่า 400,000 ชิ้นงาน, และมี 142 หน่วยงาน จาก 33 จังหวัด ขอผลงาน CKDNET ไปใช้ประโยชน์ด้านการดูแลผู้ป่วยและมี 17 หน่วยงาน ขอใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลและตัวอย่างเลือดและปัสสาวะใน biobank เพื่อประโยชน์ด้านวิจัย, พัฒนานวัตกรรม ได้แก่ เครื่องตรวจสุขภาพ “สุขศาลา”จำนวน 3 รุ่น, แอพพลิเคชั่น สำหรับ อสม., แอพพลิเคชั่นสำหรับผู้ป่วย ประชาชนที่เสี่ยงต่อโรคไตและประชาชนทั่วไป และสังเคราะห์เทคนิคใหม่ในการตรวจวัดสารบ่งชี้ชีวภาพ NGAL สำหรับผู้ป่วยโรคไต และมีการสร้างรูปแบบในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดปัญหาสุขภาพทั้งในชุมชนเมืองและชนบท โดยพบว่าการดูแลผู้ป่วยแบบเข้มงวดโดยสหสาขาวิชาชีพ, การอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์และ อสม., ความมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชน, ความสนใจและตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพของชุมชน, ความเข้มแข็งของระบบ อสม.ที่คัดกรองและติดตามอาการของผู้ป่วย รวมถึงการใช้นวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมและสามารถสัมผัสได้โดยประสาทสัมผัสทั้ง 5 (เช่น การมองเห็นค่าความดันเลือดและระดับน้ำตาลจากเครื่องวัด  สีที่สื่อถึงอันตรายเมื่อค่าการทำงานของไตลดจากค่าปกติและปริมาณไข่ขาวในปัสสาวะที่เพิ่มขึ้น การใช้เครื่องวัดความเค็ม และการได้ชิมความเค็มของอาหารที่อยู่ในระดับอันตราย  เป็นต้น) ทำให้ประชาชนตระหนักรู้ ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ สามารถป้องกัน ชะลอและลดโรคไม่ติดต่อ (non communicable disease; NCD) และ CKD ได้ และส่งผลให้การควบคุมระดับเบาหวาน ความดันโลหิต การสูบบุหรี่ และการดื่มสุราในชุมชน เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น (รายละเอียดใน QR codes ท้ายเอกสาร) นอกจากนี้มีการประเมินผลกระทบต่อประเทศด้วยการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และสุขภาพด้วยการวิเคราะห์ตุ้นทุนและประสิทธิผลของการดำเนินงานโครงการ CKDNET เมื่อเปรียบเทียบการดูแลปกติ พบว่าลดผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 3 ที่แย่ลงเป็นระยะ 4 (ร้อยละ 4.9 vs. 3.4 ต่อปี) และลดผู้ป่วยระยะ 4 ที่แย่ลงเป็นระยะ 5 (ร้อยละ 7.5 vs. 4.1 ต่อปี) บ่งชี้ว่า CKDNET Program สามารถลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่แย่ลง จากระยะ 3 ไป 4 ประมาณ 75,400 คนต่อปี และ ระยะ 4 ไป 5 ประมาณ 41,300 คนต่อปี จึงสรุปได้ว่า CKDNET Program เป็นรูปแบบที่คุ้มค่าในการลงทุน (best buy intervention) นอกจากนี้มีการศึกษาทางด้าน basic sciences ในสัตว์ทดลองเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่และมีการตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ผลงานเกี่ยวกับผลของสารโมโนโซเดียมกลูตาเมต (ผงชูรส), การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ และการเปลี่ยนแปลงชนิดของแบคทีเรียในลำไส้ (microbiome) ซึ่งส่งผลต่อการเกิดพยาธิสภาพในไต

 

แผนการดำเนินงานต่อยอดในอนาคต โครงการมีแนวทางพัฒนาการเชื่อมต่อต้นแบบการดูแลสุขภาพประชาชนและผู้ป่วยตั้งแต่ระดับชุมชน กับสถานพยาบาลตั้งแต่ปฐมภูมิจนถึงระดับตติยภูมิให้เป็นหนึ่งเดียว ไร้รอยต่อและยั่งยืน ด้วยระบบสุขภาพระยะไกล (KKU CKD Telehealth platform) ซึ่งจะมีความจำเพาะต่อการดูแลผู้ป่วยโรคไตและโรคไม่ติดต่อทั้งในรูปแบบ web application และ mobile application โดยผนวกเข้ากับนวัตกรรมที่โครงการได้พัฒนามาแล้วบางส่วน ได้แก่ การใช้ระบบ CKDNET registry ที่ติดตั้งในโรงพยาบาล และการติดตามอาการของผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงโดย อสม (ผ่านแอพพลิเคชันของ อสม.) และการรายงานผลสุขภาพของผู้ป่วยรายบุคคล (ผ่านแอพพลิเคชันรักษ์ไต ซึ่งสามารถใช้ได้สำหรับผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไป) รวมถึงข้อมูลการตรวจวัดสุขภาพของประชาชนจากเครื่องสุขศาลา ซึ่งทางโครงการวางแผนที่จะนำนวัตกรรมทั้งหมดข้างต้นมาบูรณการร่วมกันและขยายผลในชุมชนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในด้านการป้องกันและลดโรคไตที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ด้อยโอกาส ทำให้เกิดการดูแลแบบสหสาขาวิชาชีพและบูรณาการทั้งการรักษา การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ และการฟื้นฟูสุขภาพผ่านทางระบบ KKU CKD Telehealth ทำให้ลดการเดินทางและประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้เพื่อต่อยอดการศึกษาผลกระทบของมลภาวะทางน้ำและการปนเปื้อนมลสารต่อการเกิดโรคไตในชุมชนชนบท โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับโรคไตที่ไม่ทราบสาเหตุและโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โครงการร่วมกับ NANOTEC วางแผนพัฒนานวัตกรรมในการตรวจคัดกรองโรคไตระยะแรกด้วยชุดตรวจวิเคราะห์ค่าอัลบูมินต่อ ครีเอตินีนแบบพกพา ทั้งเชิงปริมาณและกึ่งปริมาณในปัสสาวะ และจัดทำเซ็นเซอร์และเทคนิคตรวจสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำในราคาประหยัดและมีความไวในการตรวจหาสารซึ่งมีปริมาณไม่มาก โดยเน้นเทคนิคที่สามารถตรวจได้ง่ายในพื้นที่ ซึ่งสามารถตรวจหาการปนเปื้อนเคมีที่พบเป็นปัญหาในน้ำอุปโภค-บริโภคในพื้นที่ ได้แก่ โลหะเหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) อะลูมิเนียม (Al) และสารกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ ไกลโฟเซต และพาราควอต ซึ่งเซ็นเซอร์ที่จะพัฒนาต่อยอดในโครงการนี้มีเทคโนโลยีฐานที่มีความพร้อมในการพัฒนาเป็นเซ็นเซอร์ที่สามารถใช้งานได้จริงในพื้นที่ และมีการจัดทำนวัตกรรมการปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยใช้นาโนเทคโนโลยีที่สามารถกำจัดการปนเปื้อนเคมีที่ตรวจพบในพื้นที่เป้าหมายที่ทางโครงการเคยสำรวจแล้วพบว่าคุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อให้ได้น้ำในครัวเรือนและชุมชนที่เหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภค โดยอาศัยความร่วมมือของชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยเน้นการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและต่อยอดเป็นนโยบายของชาติ

 

ภาคผนวก

สรุปผลงาน CKDNET

1.รวมสื่อประชาสัมพันธ์ CKDNE

https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1QcC55z26LjdRuAkN6J5-iMN1oDSh_cDP

 

 

 

 

 

2. ผลงานลิขสิทธิ์ จำนวน 24 เรื่อง

https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1tYxOE8_JwDqBOUcr0xatJtGd2soSe4-F

 

 

 

 

 

3.วารสารโครงการ CKDNET

https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1tnJZ4N2a_K-6gAkNrp-m8mj_VUmC5TYW

 

 

 

 

 

4.วารสารฉบับพิเศษ

https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1MY87prBOFWghZO9NWslz85wM1PJDXzOO

 

 

 

 

 

5.CKDNET paper

https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1e3KxQ9RqkFeF0nTHxgS1GT4IGe87nqwB

 

 

 

 

 

6.คลิป VDO นวัตกรรมตู้ตรวจสุขภาพอัจฉริยะ “สุขศาลา”

https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1fiK9jRTLEfHA9KX1jgJqaE2j4lk-pzvT

 

 

 

 

 

 

7.สรุปงานภาพรวม CKDNET

https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1oJVzfRfvkmoPeYLl3VSpCJltZ36xFGJ

 

 

 

 

 

 

 

รูปภาพประกอบ

คณะผู้ร่วมโครงการป้องกันและชะลอโรคไตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Chronic Kidney Disease Prevention in the Northeast of Thailand: CKDNET)

 

 

สรุปการดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน

 

 

การสร้างรูปแบบป้องกันโรคไตในชุมชน และคัดกรองโรคไตเรื้อรังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

 

นวัตกรรมในการตรวจคัดกรองและติดตามอาการผู้ป่วยโรคไต

 

 

การสำรวจมลภาวะทางน้ำและพัฒนาชุดตรวจวัดคุณภาพของแหล่งน้ำและน้ำที่ใช้ในครัวเรือนภายใต้โครงการ อว. เพื่อสำรวจปัญหาสุขภาพและคุณภาพน้ำ ในแหล่งน้ำและน้ำที่ใช้สำหรับอุปโภค-บริโภค ในพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์และอำเภอน้ำพอง  จังหวัดขอนแก่น

 

 

0 0
Happy
Happy
100 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleppy
Sleppy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %
Next Post

ประชาสัมพันธ์การให้บริการรับฝากและขอใช้ตัวอย่างชีวภาพแก่ผู้ที่สนใจ

  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพลุ่มน้ำโขงร่วมก […]

You May Like